Wednesday, May 30, 2012

ครั้งหนึ่ง...ลูกผู้ชาย


คำว่าลูกผู้ชาย ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หมายถึง
ลูกผู้ชาย (น.) เรียกผู้ชายที่มีความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และมีความรับผิดชอบ เป็นต้น
 
แต่สำหรับลูกผู้ชายในความหมายที่วนิดากล่าวไว้ในชื่อเรื่อง แปลตรงตัวเลยค่ะ 
 
ลูก = ลูกของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง
ผู้ชาย = เป็นผู้ชาย 
 
นอกจากการประพฤติปฏิบัติดีแล้ว สิ่งที่พ่อและแม่หวังใจอยากให้ลูกชายทำเพียงอย่างเดียวคือ "บวช" 
 
"บวช" มาจากศัพท์ว่า ปะวะชะ แปลว่า งดเว้นจากกิจบ้านการเรือน มาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา สำหรับสามเณรเราเรียกการบวชนี้ว่า "บรรพชา" สำหรับพระภิกษุ เรียก "อุปสมบท"
 
ที่กล่าวถึงลูกผู้ชายและการบวชมาเสียยืดยาว ก็เพื่อปูพื้นว่า บัดนี้ ครอบครัวแก่นจันทร์ และญาติพี่น้อง ได้ปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลูกผู้ชายในครอบครัว คือ นายภาณุพันธุ์ แก่นจันทร์ ได้ละเว้นกิจบ้านการเรือน มาบำเพ็ญกิจศาสนา ด้วยเสียงขานนาคในพิธีบวชอันดังก้องกังวาล ทุกคนในบ้านยิ้มหน้าบาน และน้ำตาคลอเบ้า 5555
 
(กำหนดการ :  วันที่ 5/5/55 ปลงผม
วันที่ 6/5/55 ทำพิธีอุปสมบท) 
 
เอ็นทรี่นี้ไม่รู้จะบรรยายความปิตินั้นออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไร นอกจากแปะรูป แปะคลิป ความปลื้มปิติในวันนั้น และเมื่อเช้าเพิ่งคุยกับแม่ บอกว่า พระน้องชายกำหนดสึกในวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2555 รวมๆแล้ว บวชไป 1 เดือน 3 วันค่ะ
 
 
 
ว่าแต่การบวชมีได้อย่างไร?
ในอดีตหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ตั้งจิตที่จะแสดงธรรมสั่งสอน พระองค์ได้ทรงสั่งสอนฤษีปัญจวัคคีย์ทั้งห้า และบุคคลอื่นๆแล้ว เมื่อผู้ฟังเหล่านี้เกิดศรัทธา ทูลขอบวช และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับด้วยพระวาจาว่า "มาเถิดพระภิกษุ ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อพ้นทุกข์โดยชอบเถิด"1  เพียงเท่านี้ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าบวชเป็นภิกขุในพระพุทธศาสนา เราเรียกการบวชเช่นนี้ว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือการบวชโดยพระพุทธเจ้า ด้วยการเปล่งวาจาว่า " และเรียกผู้ที่รับการอุปสมบทแบบนี้ว่า "เอหิภิกขุ"
 
1 -- บางตำรา แปลว่า "ท่านจงเป็นภิกขุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ" เป็นต้น
 
หลังจากมีภิกขุในพระพุทธศาสนามากแล้ว พระพุทธเจ้าทรงส่งภิกขุทั้งหลายไปประกาศพระศาสนา เมื่อมีผู้ศรัทธาเอ่ยปากขอบวช หากต้องนำพามาบวชกับพระพุทธเจ้าทุกครั้งทุกคราไป จะเป็นการลำบาก ดังนั้นพระองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกขุ (พระสาวก) สามารถบวชกุลบุตรได้เอง ด้วยการเปล่งวาจาว่า "พุทธัง สรณังคัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณังคัจฉามิ" (แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเ
จ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ) 3 หน เรียกการบวชเช่นนี้ว่า "ติสรณคมนูปสัมปทา" 
 
กาลเวลาผ่านไป เมื่อมีภิกขุในพระพุทธศาสนาตั้งมั่นดีแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายการอุปสมบทนี้ให้เป็นกิจของสงฆ์ ประกอบด้วย หมู่พระสงฆ์ 5-10 รูป มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้นำเข้าหมู่ เราเรียกพระรูปนี้ว่าว่า "พระอุปัชฌาชย์" มีพระสงฆ์อีกรูปสวดประกาศ การบวชด้วยวิธีนี้เป็นการบวชที่ใช้กันในปัจจุบัน เราเรียกว่า "ญัตติจตุตถกรรมวาจา" 

การบวช มีอยู่ในทุกประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ส่วนประกอบในพิธี บทสวด หรืออื่นๆจะแตกต่างกันไปตามแต่นิกายที่นับถือค่ะ เช่นว่า หากนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน บทสวดบางบท ก็จะแตกต่างไปจากบทสวดของนิกายเถรวาท เป็นต้นค่ะ 
 
 
มาถึงช่วงที่สนุกทีุ่สุดของงานบวช คงหนีไม่พ้น "การแห่นาค" ของพระน้องชาย มีการแห่สองครั้งค่ะ ครั้งแรก แห่เพื่อไปขมาลาโทษญาติพี่น้อง ที่ไม่ได้ไปร่วมในงานปลงผม กับการแห่จากบ้านงาน ไปวัดที่จะทำพิธีบวชค่ะ 
 
ที่บอกว่าบ้านงาน ก็คือ ในการบวชนี้เราสามารถตั้งกองเครื่องบวชได้ทั้งที่วัด หรือที่บ้าน หากตั้งที่วัด ตอนเช้าก็เตรียมแห่รอบโบสถ์ได้เลย แต่ถ้าตั้งที่บ้าน ก็จะมีขบวนแห่นาค , เครื่องบวชต่างๆ โดยนำขบวนด้วยแตรวง หากในสมัยนี้ ก็คงเป็น วงดนตรีสตริง หรือไม่ก็วงกลองยาว ตามมาด้วยรถแห่ให้นาคนั่ง สมัยก่อนนั้นบางที่จะใช้ ม้า , วัว , หรือควายค่ะ ถ้าใช้ม้า ก็ตามธรรมเนียมเดิมที่เจ้าชายสิทธัตถะขี่ม้ามาปลงผม อะไรแบบนี้ (เรื่องประวัิติศาสตร์การบวช ไม่ีได้หาข้อมูลมาเยอะเลยค่ะ ห่างไกลมากๆๆ หากผิดพลาดตรงไหน ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ  ) 
 
ของบ้านวนิดา ที่บ้านชอบอะไรอลังการค่ะ เลยเล่นทั้งวงกลองยาว กับ วงสตริง
 
 
กลองยาว                        วงสตริง
 
 
ภาพบรรยากาศรวมๆค่ะ
 

 
 
 
 
 
สุดท้าย อยากบอกพระน้องชายว่า (มันไม่รู้หรอก เพราะไม่ได้บอกมันตรงๆ 5555 พี่สาวก็มีเขินบ้างอะไรบ้าง)
อยากบอกว่า เขาเป็นน้องชายที่เราภูมิใจ แม้จะเกเรบ้าง ดื้อด้านบ้าง แต่สุดท้ายเราก็เคารพเรา ด้วยใจจริง 
และเป็นเด็กดีของพ่อแม่ ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจเท่าไหร่ น่าจะ อะนะ 5555 
 
รักน้องมากๆๆ จากพี่สาวคนนี้
วนิดา แก่นจันทร์